พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๖๐
- Details
- Category: Legal Update
- Published on 30 June 2017
- Written by ประภาพรรณ เอี่ยมอนันต์
- Hits: 539
ตามที่ได้มีการออกพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๖๐ ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยยกเลิกพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๕๑ และ พระราชกำหนดการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ.๒๕๕๙ ซึ่งเพิ่มบทกำหนดโทษให้มีอัตราโทษสูงขึ้น พระราชกำหนดนี้มีสาระสำคัญเป็นการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ โดยกำหนดหลักเกณฑ์การนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศและการทำงานของคนต่างด้าวซึ่งกฎหมายฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๐ เป็นต้นไป
โดยสาระสำคัญของกฎหมายฉบับดังกล่าว อาทิ
-
นายจ้างผู้ใดนำคนต่างด้าวมาทำงานกับตนในประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑ ปี หรือปรับไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาทต่อการนำคนต่างด้าวมาทำงาน ๑ คน หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา ๑๑๓)
-
นายจ้างผู้ใดเรียกรับเงินหรือทรัพย์ใดๆ จากคนต่างด้าวในการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับตนในประเทศ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๖ เดือน หรือปรับไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาทต่อการเรียกหรือรับเงินหรือทรัพย์สินใด ๆ จากคนต่างด้าว ๑ คน หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา ๑๑๔)
-
ผู้ใดนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศโดยไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๖ เดือน หรือปรับ ไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา ๑๐๓)
-
ผู้ใดยึดใบอนุญาตทำงานหรือเอกสารสำคัญประจำตัวของคนต่างด้าวไว้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา ๑๓๑)
-
ผู้ใดรับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยฝ่าฝืนมาตรา ๙ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ ๔๐๐,๐๐๐-๘๐๐,๐๐๐ บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้าง ๑ คน (มาตรา ๑๐๒)
-
ผู้ใดรับคนต่างด้าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตทำกับตนเข้าทำงาน ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ ๔๐๐,๐๐๐-๘๐๐,๐๐๐ บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้าง ๑ คน (มาตรา ๑๒๒)
-
ผู้ใดให้คนต่างด้าวทำงานไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตทำงาน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๔๐๐,๐๐๐ บาทต่อคนต่างด้าว ๑ คน (มาตรา ๑๒๓)
-
นายจ้างผู้ใดไม่แจ้งต่อนายทะเบียนภายใน ๗ วันนับแต่วันที่ผู้รับอนุญาตให้ทำงานออกจากงานไม่ว่าด้วยเหตุใด ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐บาท (มาตรา ๑๒๔)