ประวัติความเป็นมาของสำนักงานตรวจสอบภายใน
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้เล็งเห็นความสำคัญของการตรวจสอบภายใน จึงได้มีการแต่งตั้ง “คณะผู้ตรวจสอบภายใน” ในปีการศึกษา 2541 เพื่อกำกับดูแลการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในปีการศึกษา 2542 ได้ตั้งหน่วยงาน “งานตรวจสอบภายใน” และให้รายงานต่อคณะกรรมการตรวจสอบ หรือ กตส. ซึ่งได้มีการกำหนดให้มี กฎบัตรว่าด้วยคณะกรรมการตรวจสอบ ในปีการศึกษา 2547 ต่อมาในปีการศึกษา 2550 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สำนักงานตรวจสอบภายใน” สอดคล้องกับมติของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งเสนอแนะให้สภาสถาบันอุดมศึกษาทั้งของรัฐและเอกชนทุกแห่งจัดให้มีคณะกรรมการตรวจสอบประจำสถาบันอุดมศึกษาขึ้น และให้สำนักงานตรวจสอบภายในทำหน้าที่เลขานุการและปฏิบัติงานด้านธุรการของคณะกรรมการตรวจสอบ โดยกำหนดให้สภาสถาบันอุดมศึกษาควรจัดให้มีการตรวจสอบภายใน การดำเนินงานของสถาบันอุดมศึกษาอย่างเป็นระบบ และให้รายงานผลการดำเนินงานต่อสภาสถาบันอุดมศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) กำกับดูแลระบบการตรวจสอบภายใน 2) ประเมินระดับความเสี่ยงในการบริหารและการดำเนินงานของสถาบันอุดมศึกษา 3) สอบถามและวิเคราะห์งบการเงินของสถาบันอุดมศึกษา และได้กำหนดแนวทางการตรวจสอบการดำเนินงานของสถาบันอุดมศึกษาขึ้น โดยแบ่งเป็น การตรวจสอบภายใน การควบคุมภายใน การประเมินและบริหารความเสี่ยง และ การตรวจสอบการบริหารจัดการ
วิสัยทัศน์
สำนักงานตรวจสอบภายใน เป็นหน่วยงานสนับสนุนให้มีการบริหารงานของมหาวิทยาลัยที่โปร่งใส และส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติงานสอบทานการควบคุมภายในได้ด้วยตนเองอย่างถูกต้อง (Control-self assessment)
ปรัชญา
ตรวจสอบอย่างสร้างสรรค์ ยึดหลักแห่งความยุติธรรม
ปฏิบัติงานด้วยความโปร่งใส เสริมสร้างการควบคุมภายในที่ดี
ปรัชญา ปณิธาน
เสริมสร้างระบบการควบคุมภายในที่ดี
บริหารตามหลักธรรมาภิบาล
บริหารความเสี่ยงทั่วทั้งองค์ก
พันธกิจ
- ตรวจสอบแนะนำ ให้คำปรึกษา ในการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบบริหารจัดการภายในมหาวิทยาลัย
- พัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานให้สามารถสอบทาน การควบคุมภายในด้วยตนเอง ตามหลักการ ควบคุมภายในและธรรมาภิบาล
นโยบาย
- สำนักงานตรวจสอบภายในมีนโยบายและจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพตรวจสอบภายใน (Code of Ethics) เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน
- ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์เที่ยงธรรม ขยันขันแข็ง และด้วยความรับผิดชอบ
- ต้องมีความจงรักภักดีในทุกกรณีที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับภารกิจขององค์กรหรือต่อผู้รับบริการนอกจากนี้ ต้องไม่เข้าร่วมกิจกรรมที่ผิดกฎหมายหรือกิจกรรมที่ไม่เหมาะสม
- ต้องไม่กระทำการใดๆซึ่งจะทำให้เสื่อมเสีย ชื่อเสียง ต่อวิชาชีพตรวจสอบภายใน หรือต่อองค์กร
- ต้องไม่กระทำการใดๆให้เกิดข้อขัดแย้งในส่วนได้เสียขององค์กร หรือมีอคติในการปฏิบัติตามหน้าที่และความรับผิดชอบโดยขาดความเที่ยงธรรม
- ต้องไม่รับสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ส่วนตัวจากพนักงานผู้ซื้อ ลูกค้า ผู้จำหน่าย หรือจากผู้ที่มาติดต่อธุรกิจกับองค์กร ซึ่งจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อวิชาชีพหรือทำให้การใช้ดุลยพินิจเบี่ยงเบนไป
- ต้องให้บริการเฉพาะงานที่พิจารณาเห็นว่าจะสำเร็จได้ด้วยความสามารถแห่งวิชาชีพ
- ต้องรับรองวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมและสอดคล้องกับมาตรฐานการประกอบวิชาชีพตรวจสอบภายใน
- ต้องระมัดระวังรอบคอบในการใช้ข้อมูลที่ได้มาจากการตรวจสอบต้องไม่นำข้อมูลที่เป็นความลับขององค์กรไปใช้เพื่อผลประโยชน์ของบุคคลใดๆ ในลักษณะที่ผิดกฎหมาย หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อองค์กร
- ต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงที่สำคัญในรายงานการละเว้นไม่เปิดเผยจะต้องไม่ทำให้รายงานนั้นบิดเบือนหรือปิดบังการปฏิบัติที่ผิดกฎหมาย
- ต้องพยายามปรับปรุง ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และคุณภาพของการให้บริการอย่างต่อเนื่อง
- ต้องธำรงไว้ซึ่งการปฏิบัติงานอย่างมีมาตรฐานเยี่ยงมืออาชีพมีคุณธรรม และมีศักดิ์ศรี
วัตถุประสงค์ อำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบของงานตรวจสอบภายใน
วัตถุประสงค์
- เพื่อเสริมสร้างให้มีระบบการควบคุมภายในที่เพียงพอและเหมาะสม
- เพื่อให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล
- เพื่อให้ทุกหน่วยงานมีการบริหารความเสี่ยงทั่งทั้งองค์กร
- เพื่อให้ความมั่นใจในการบริหารจัดการ และปฏิบัติงานให้เป็นไปตามหลักธรรมมาภิบาล
- เพื่อเสริมสร้างให้บุคลากรมีความรู้ความสามารถภายใต้สภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี
ขอบเขต
- สอบทานและรายงานความเชื่อถือได้ และความครบถ้วนของข้อมูลทางการเงิน การปฏิบัติงาน ตลอดจนวิธีการวินิจฉัยและวัดผล
- สอบทานระบบงานที่มีผลกระทบสำคัญต่อการดำเนินงาน รายงานว่าได้มีการปฏิบัติงานที่สอดคล้องกับนโยบาย แผนงาน ระเบียบปฏิบัติที่วางไว้ รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
- สอบทานความเหมาะสมของการเก็บรักษาทรัพย์สิน และตรวจสอบว่าทรัพย์สินนั้นมีอยู่จริง
- ประเมินว่าการใช้ทรัพยากรของมหาวิทยาลัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และคุ้มค่า
- สอบทานการดำเนินงานหรือแผนงาน เพื่อให้แน่ใจว่าสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ และเป้าหมายที่วางไว้ และมีการปฏิบัติงานตามแผนที่กำหนด
อำนาจ
- ผู้ตรวจสอบภายในมีสิทธิ์ที่จะขอเข้าทำการตรวจสอบทรัพย์สิน และกิจกรรมต่างๆ ขององค์กรรวมทั้งหนังสือ บัญชี และเอกสารประกอบการบันทึกบัญชี จดหมายโต้ตอบและรายงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
- ผู้ตรวจสอบภายในมีอิสระในการตรวจสอบที่เห็นสมควรตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพตรวจสอบภายใน
- ผู้ตรวจสอบภายในสามารถขอให้ผู้รับการตรวจสอบให้ข้อมูล และคำชี้แจงในเรื่องที่ทำการตรวจสอบได้
หน้าที่และความรับผิดชอบ
- รับผิดชอบงานด้านการตรวจสอบภายในองค์กร
- วางแผนการตรวจสอบ และจัดให้มีการปฏิบัติตามแผน
- สอบทานความถูกต้องเชื่อถือได้ของข้อมูลทางการบัญชี และการเงิน
- ควบคุมดูแลการเก็บรักษา และการใช้ทรัพย์สิน
- ประเมินความเพียงพอ และความประสิทธิภาพในการควบคุมภายในของระบบต่างๆ
- รายงานผลการตรวจต่อคณะกรรมการตรวจสอบ
การปฏิบัติงานตรวจสอบ
- ตรวจสอบหน่วยงานต่างๆ ขององค์กรเป็นระยะๆ เพื่อพิจารณาว่าได้มีการปฏิบัติงานตามแผนงานนโยบาย เป้าหมาย และวัตถุประสงค์ขององค์กร ตลอดจนระเบียบปฏิบัติ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
- เมื่อการตรวจสอบเสร็จสิ้นสมบูรณ์ หัวหน้างานตรวจสอบภายในต้องจัดให้มีการประชุมปิดงานตรวจสอบร่วมกับหัวหน้าหน่วยงานที่รับการตรวจสอบ เพื่อชี้แจงหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตลอดจนการยอมรับเกี่ยวกับข้อบกพร่องที่ตรวจพบ และมาตรการแก้ไขปรับปรุง ก่อนที่จะนำเสนอรายงานผลการตรวจสอบ ในกรณีที่ผู้ตรวจสอบภายใน และหน่วยงานที่รับการตรวจสอบมีความเห็นต่างกันให้บันทึกความเห็นทั้งสองฝ่าย
- ต้องจัดทำรายงานผลการตรวจสอบเป็นลายลักษณ์อักษร อธิบายถึงวัตถุประสงค์ ขอบเขตของการตรวจสอบ ข้อบกพร่องที่ตรวจสอบ และข้อเสนอแนะเพื่อการแก้ไขปรับปรุงในรูปแบบตามเอกสารแนบ
- หัวหน้าตรวจสอบภายในต้องพัฒนาผู้ตรวจสอบภายในให้มีความรู้ ความสามารถ และมีประสบการณ์เพียงพอในการที่จะดำเนินการตรวจสอบเรื่องต่างๆ
- ผู้ตรวจสอบภายในต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีคุณธรรม มีมนุษยสัมพันธ์ดี วางตัวเป็นกลาง รู้จักกาลเทศะ มีทัศนคติที่ดีต่อเพื่อนร่วมงาน