ประวัติและความเป็นมาของงานศิลปะเพื่อการตกแต่งเดโคพาจ

        เดโคพาจ (Decoupage) คืองานศิลปะประดิษฐ์เพื่อการตกแต่งแขนงหนึ่ง โดยใช้วิธีการผนึกกระดาษที่ตัดเป็นรูปร่างต่างๆลงบนพื้นผิววัสดุ แล้วเคลือบเงาด้วยวาร์นิชหลายๆชั้น จัดได้ว่าเป็นงานศิลปะที่มีประวัติความเป็นมายาวนานหลายร้อยปี ซึ่งแท้จริงแล้วงานศิลปะแขนงนี้มีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีนและญี่ปุ่น ที่มีเครื่องเรือนต่างๆ ติดรูปแล้วเคลือบเงามาตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๒ และต่อมาได้ส่งสินค้าประเภทนี้ไปยังประเทศทางแถบยุโรป

  

ChineseExportLacqueredTableA lacquered table top decorated with gilt images, made in China for the export market

 (http://www.adafca.org/events/36/japanning-in-america/)

 

ในปี ๑๗๕๐ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่งานเฟอร์นิเจอร์แบบของจีนและญี่ปุ่นได้รับความนิยมในแถบยุโรปเป็นอย่างมากจนไม่สามารถผลิตได้ทันตามความต้องการ จึงเกิดการผลิตงานเลียนแบบขึ้นโดยช่างฝีมือชาวอิตาลี โดยพิมพ์ภาพลงบนกระดาษเป็นจำนวนมาก เพื่อใช้ผนึกบนชิ้นงานที่ทำสีพื้นเตรียมไว้แล้วเคลือบวาร์นิชหลายชั้นจนขึ้นเงา ซึ่งในสมัยนั้นเรียกงานศิลปะประดิษฐ์แขนงนี้ว่า I’arte del povero หรือ poor man’s arts เพราะเนื่องจากเป็นงานศิลปะประดิษฐ์ที่ราคาถูกกว่าการว่าจ้างให้ศิลปินวาดภาพลงบนชิ้นงานจริงๆ

 

 

Boston-Japanned-HighChest

Boston japanned high chest, ca. 1735-40

(http://www.adafca.org/events/36/japanning-in-america/)

 

 ในราวศตวรรษที่ ๑๘ งานศิลปะแขนงนี้ได้แพร่ไปยังประเทศฝรั่งเศสและได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจนกลายเป็นงานอดิเรกของสตรีในราชสำนักของพระนางมารี อังตัวเนตต์ ถึงกับเป็นที่กล่าวกันว่าแทบจะไม่มีภาพชิ้นใดเลยที่รอดพ้นคมกรรไกรของพระนางและเหล่านางกำนัลไปได้

 

Chinese cabinet

Chinese export lacquered table cabinet with 5 internal drawers with ivory knobs,on a bracket base. Circa 1850. Height: 22”; Width: 15”; Depth: 7 ½”

(http://www.samuelherrup.com/antique_furniture/Chinese_cabinet/Chinese_cabinet.html)

 

ถึงช่วงศตวรรษที่ ๑๙ ในสมัยวิคตอเรีย พระนางวิคตอเรีย และดยุค ออฟ เวลลิงตันแห่งอังกฤษทั้งสองพระองค์ทรงโปรดงานศิลปะแขนงนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งในสมัยนั้นจะเรียกงานศิลปะประดิษฐ์แขนงนี้ว่า japanning ตามการเรียกตู้ที่ติดรูปเคลือบเงาซึ่งเป็นสินค้าส่งออกจากประเทศญี่ปุ่น ทั้งสองพระองค์ทรงโปรดสร้างสรรค์ผลงานและทรงเป็นนักสะสมผลงานศิลปะประดิษฐ์แขนงนี้อีกด้วย ซึ่งถือเป็นยุคที่เฟื่องฟูมากที่สุด เพราะเป็นยุคที่เทคโนโลยีการพิมพ์พัฒนาก้าวหน้ามาก สามารถพิมพ์ภาพสีสันสวยงามได้มากมาย แต่ความนิยมงานศิลปะประดิษฐ์แขนงนี้และงานศิลปะแขนงอื่นๆ ก็ต้องหยุดชะงักลงในช่วงสภาวะสงคราม

 

il fullxfull.387160419 150c

Decoupage Furniture

(http://www.etsy.com/listing/112770351/shabby-chic-decoupage-table)

 

จนราวศตวรรษที่ ๒๐ งานศิลปะประดิษฐ์เพื่อการตกแต่งแขนงนี้ได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งและได้ถูกเรียกชื่อใหม่ว่า Decoupage  อ่านว่า เดโคพาจ มาจากคำ decoup แปลว่าตัด และในปัจจุบัน ศิลปะแขนงนี้ ได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลกมากขึ้น รูปแบบของชิ้นงานได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก ไม่เฉพาะในเรื่องรูปร่าง สีสัน และรูปภาพที่จะนำมาใช้เท่านั้น แต่วิธีการและขั้นตอนก็ได้รับการพัฒนาให้เหมาะสมกับรูปแบบการใช้ชีวิตในปัจจุบันมากขึ้นไปอีกด้วย

  

วัสดุอุปกรณ์พื้นฐานสำหรับการทำงานเดโคพาจ

๑.     แปรงหรือพู่กันสำหรับทาสี ทากาว และทาน้ำยาเคลือบเงา

๒.     ฟองน้ำ

๓.     กรรไกรหรือคัตเตอร์

๔.     กาวสำหรับงานเดโคพาจ

๕.     สีรองพื้น

๖.     กระดาษทิชชูพิมพ์ลาย (แน็ปกิ้น)

๗.     ชิ้นงานที่จะนำมาตกแต่ง

 

ขั้นตอนพื้นฐานในการทำงานเดโคพาจ

๑.  ทาสีรองพื้นชิ้นงาน ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญและจำเป็นต้องทำ โดยทั่วไปมักจะใช้สีอะครีลิกสีขาวหรือสีครีม ทารองพื้นที่ชิ้นงานสองรอบ สามารถใช้ไดร์เป่าชิ้นงานให้สีรองพื้นแห้งสนิทเร็วขึ้น ทั้งนี้เพราะการทาสีรองพื้นที่ดีจะทำให้ลายแน็ปกิ้นที่ติดที่ชิ้นงานดูโดดเด่นขึ้น

๒.   เลือกลายและตัดลายแน็ปกิ้นตามความต้องการ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับชิ้นงาน จากนั้นให้ลอกกระดาษแน็ปกิ้นออกและเลือกใช้เฉพาะชั้นบนสุดที่มีลายพิมพ์ สำหรับติดที่ชิ้นงานเท่านั้น

๓.     ทากาวเดโคพาจ ให้ทั่วบริเวณที่จะทำการติดแน็ปกิ้น โดยทาเพียงรอบเดียวเท่านั้น สามารถใช้ไดร์เป่าชิ้นงานที่ทากาวเดโคพาจแล้วให้แห้งสนิทเร็วขึ้นได้

๔.   ติดแน็ปกิ้นลงบนชิ้นงาน โดยใช้ฟองน้ำขนาดเหมาะมือชุบน้ำพอหมาด กดลงไปบนแน็ปกิ้นโดยใช้วิธีกดแล้วยกขึ้นจนเต็มพื้นที่ของชิ้นงานที่ทำการติดแน็ปกิ้น เมื่อทำจนทั่วแล้วใช้ไดร์เป่าให้แห้งสนิท

๕.  เคลือบเงา ด้วยวานิชกับแปรงขนอ่อน ทาบางๆจนทั่วชิ้นงานแล้วใช้ไดร์เป่าให้แห้งสนิท ทาซ้ำ อีก ๒-๓ รอบเพื่อความคงทนแข็งแรง

You are here: Home วัฒนธรรมศึกษา ประวัติและความเป็นมาของงานศิลปะเพื่อการตกแต่งเดโคพาจ