หัวโขนครูเทพเจ้าทางดนตรีและนาฏศิลป์
หัวโขนพระอิศวรแทนสมมติเทพองค์พระอิศวร ครูเทพเจ้าผู้สร้างโลก เป็นใหญ่ในหมู่เทพเจ้าทั้งมวล ทรงเป็นผู้ประทานศิลปวิทยาการทั้งหลายในโลกมนุษย์
ลักษณะหัวโขน หน้าพระสีขาว สวมมงกุฎน้ำเต้ากาบ นอกจากนี้ยังมีการทำมงกุฎเป็นยอดต่างๆ อีก เช่น ยอดน้ำเต้ากาบทรงปลี ยอดน้ำเต้ากาบทัดจันทร์ และยอดน้ำเต้ากาบปลายสะบัด เป็นต้น
หัวโขนพระนารายณ์แทนสมมติเทพองค์พระนารายณ์ครูเทพเจ้าผู้บริหารและรักษาโลก เป็นเทพเจ้าผู้รักษาความดี ทรงเป็นมหาเทพผู้ทรงรักษาวิชาการไว้ให้อยู่คู่โลก
ลักษณะหัวโขน หน้าพระสีดอกตะแบก(สีชมพูอมม่วง) สวมมงกุฎยอดเดินหน หรือมงกุฎยอดชัย
หัวโขนพระพรหมแทนสมมติเทพองค์พระพรหม ครูเทพเจ้าผู้สร้างโลก เป็นเทพเจ้าแห่งพรหมวิหาร เป็นใหญ่ในชั้นพรหม
ลักษณะหัวโขน หน้าพระสีขาว ๔ หน้า ชั้นแรกเป็นหน้าปกติ ๑ หน้า ชั้นที่ ๒ เป็นหน้าเล็ก ๓ หน้า สวมมงกุฎชัย นอกจากนี้ยังมีการทำอีกแบบคือมีหน้าปกติ ๑ หน้า และหน้าเล็ก ๓ หน้าเรียงไว้ตรงท้ายทอย สวมมงกุฎน้ำเต้า ๕ ยอด
หัวโขนพระอินทร์แทนสมมติเทพองค์พระอินทร์ ครูเทพเจ้าผู้ให้ความช่วยเหลือมนุษย์ เป็นใหญ่อยู่ในชั้นดาวดึงส์
ลักษณะหัวโขน หน้าพระสีเขียว สวมมงกุฎยอดเดินหน
หัวโขนพระพิฆเนศแทนสมมติเทพองค์พระพิฆเนศ ครูเทพเจ้าแห่งศิลปะ เป็นเทพเจ้าแห่งความรู้ สติปัญญา ศิลปศาสตร์ เป็นใหญ่เหนืออุปสรรคทั้งมวล และเป็นเทพผู้อยู่เหนือการรจนา แต่งหนังสือ
ลักษณะหัวโขน หน้าเป็นช้างสีสัมฤทธิ์(สีแดง) สวมเทริดยอดน้ำเต้า หรือมงกุฎยอดน้ำเต้า
หัวโขนพระวิสสุกรรมแทนสมมติเทพองค์ พระวิสสุกรรม ครูเทพเจ้าแห่งการช่าง การก่อสร้าง ทั้งช่างเขียนและช่างปั้น เป็นครูเทพเจ้าแห่งการดนตรีอีกองค์หนึ่ง
ลักษณะหัวโขน หน้าพระสีเขียว สวมเทริดยอดน้ำเต้า หรือมงกุฎยอดน้ำเต้า หรืออีกแบบหน้าพระสีเขียว หัวโล้น ที่ผมเขียนเป็นลายดอกไม้ หรือโพกผ้า
หัวโขนพระปรคนธรรพแทนสมมติเทพองค์ พระปรคนธรรพ ครูเทพเจ้าแห่งวิชาการดนตรี ทั้งดีดสีตีเป่า และขับร้อง ถือว่าเป็นบรมครูแห่งการดนตรี
ลักษณะหัวโขน มีหน้าสีหนเสน(สีเขียวหรือสีเขียวใบแค) หัวโขนบางหัวจะมีลายเป็นวงทักขิณาวัฎที่บริเวณใบหน้า มีลักษระทำเป็นหน้าหนุ่ม และหน้าแก่ สวมชฎายอดบวชหรือชฏายอดฤาษี(ยอดดอกลำโพง) จอนหูมีแบบมนุษย์และแบบฤาษี หรือสวมมงกุฎยอดน้ำเต้า
หัวโขนพระปัญจสีขรแทนสมมติเทพองค์ พระปัญจสีขร ครูเทพเจ้าแห่งวิชาการดนตรีและขับร้อง
ลักษณะหัวโขน หน้าพระสีขาว สวมมงกุฎน้ำเต้า ๕ ยอด
หัวโขนพระพิราพแทนสมมติเทพองค์พระพิราพ ครูเทพเจ้าอสูรผู้ทรงฤทธิ์ เป็นบรมครูในการดนตรีและนาฏศิลป์ เป็นเทพเจ้าแห่งความตาย ความหายนะ และเป็นเทพเจ้าแห่งความประสบโชค ขจัดโรคภัย
ลักษณะหัวโขน เป็นยักษ์หน้าจาวตาล(หน้ากางคางออก) สีม่วงแก่ หรือสีน้ำรัก หรือสีทอง ปากแสยะ ตาจรเข้ หัวโล้น สวมกระบังหน้า
หัวโขนพระภรตฤาษีแทนสมมติเทพองค์ พระภรตฤาษี ครูเทพเจ้าแห่งการนาฏศิลป์ เป็นผู้แต่งคัมภีรภารตนาฏยศาสตร์ เป็นผู้จดจำท่ารำจากพระพรหมนำไปสอนโอรสทั้ง ๑๐๐ คน เพื่อให้ไปเผยแพร่ยังโลกมนุษย์
ลักษณะหัวโขน จะทำเป็นหลายแบบ คือ มีหน้าสีทอง(นิยมมากกว่าหน้าสีอื่นๆ) สีลิ้นจี่แดง สีกลีบบัว สีเนื้อ และสีจันทร์ เป็นต้น ลักษณะจอนหูทำเป็นแบบครีบหางปลากับจอนหูแบบธรรมดาที่ใช้กับเทริด และบางครั้งก็ไม่ติดจอนหู ลักษณะใบหน้าจะทำเป็นแบบหน้าอ้วน หน้าผอม หน้ายิ้ม หรือหน้าดุ สวมเทริดหนังสือ หรือเทริดยอดบายศรี ลักษณะของฟันเป็นหน้ายิ้มเห็นฟันเต็มปากบาง เห็นแต่ฟันบน ๒ ซี่ หรือเห็นฟันบน ๒ ซี่ ฟันล่าง ๒ ซี่ หรือไม่มีฟัน
หัวโขนพระฤาษีกไลโกฎแทนสมมติเทพองค์ พระฤาษีกไลโกฎ ครูเทพเจ้าฝ่ายมนุษย์ ที่เป็นผู้จดบันทึกและถ่ายทอดท่ารำจาก พระอิศวร
ลักษณะหัวโขน ทำเป็นหัวฤาษีหน้าเนื้อ สวมเทริดฤาษียอดบายศรี หัวโขนบางหัวจะทำเขาโผล่ขึ้นมาอีกด้วย
หัวเทริดโนราห์แทนสมมติเทพครูละคร เป็นสัญลักษณ์ของครูละครประเภทแรกคือ โนราห์ ซึ่งเป็นศิราภรณ์ที่ใช้ได้ทั้งตัวพระ และตัวนาง
ลักษณะหัวเทริดโนราห์ เป็นเครื่องประดับศรีษะของตัวนายโรงหรือ โนราใหญ่หรือตัวยืนเครื่อง ทำเป็นรูป มงกุฏอย่างเตี้ย มีกรอบหน้า มีด้ายมงคลประกอบ
สมบัติของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผลงานการสร้างสรรค์หัวโขนแบบโบราณ โดยครูสำเนียง ผดุงศิลป์