คุณรู้หรือไม่??? เกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์

3 paragraph   177

๑. ประเพณีสงกรานต์น่าจะเป็นประเพณีฉลองการขึ้นปีใหม่ที่รับอิทธิพลมาจากอินเดีย

        ในสมัยโบราณคนไทยนับเดือนตามจันทรคติและฉลองการขึ้นปีใหม่ในเดือนที่ ๑ หรือที่เรียกกันว่าเดือนอ้าย ซึ่งตรงกับเดือนธันวาคม แต่ในปัจจุบัน “สงกรานต์” ของคนไทยนับช่วงระยะเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ ตรงกับเดือนห้าหรือเดือนเมษายน ซึ่งตรงกับวันและเวลาตั้งต้นปีใหม่ตามสุริยคติความเชื่อในอินเดีย ซึ่งการที่ชาวอินเดียจัดการฉลองการขึ้นปีใหม่ในช่วงนี้ เป็นเพราะอิทธิพลความเชื่อทางศาสนาที่มีกำเนิดในอินเดีย และเป็นช่วงที่อากาศไม่หนาว ต้นไม้ผลิใบ ให้ความสดชื่นและมีชีวิตชีวา เหมาะที่จะถือเป็นการขึ้นปีใหม่ และเริ่มชีวิตใหม่


        ด้วยเหตุนี้ ประเพณีสงกรานต์จึงน่าจะเป็นประเพณีฉลองการขึ้นปีใหม่ที่รับอิทธิพลมาจากอินเดีย

 

๒. การรดน้ำในประเพณีสงกรานต์ที่ถูกต้องมี ๒ ประเภท คือ

        ๒.๑ การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ (ตามธรรมเนียมแต่โบราณหมายถึงผู้ที่มีอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป) เป็นการรดน้ำเพื่อแสดงความเคารพและขอพรจากผู้ใหญ่ ในขณะที่รดน้ำไม่ควรอวยพรใดๆ ผู้ใหญ่จะเป็นผู้ให้พรเอง
        ๒.๒ การรดน้ำอวยพร เป็นการรดน้ำผู้ใหญ่หรือการเล่นน้ำสงกรานต์ที่อยู่ในวัยเดียวกันหรืออ่อนวัยกว่า ควรขออนุญาตแล้วรดน้ำที่หัวไหล่ สามารถกล่าวคำอวยพรได้ตามต้องการ

 

๓. การรดน้ำดำหัวใช้เฉพาะสงกรานต์กลุ่มล้านนาเท่านั้น

        การรดน้ำดำหัวเป็นประเพณีสงกรานต์ของไทยกลุ่มล้านนา ถือว่าเป็นการขอขมาลาโทษหรือขออโหสิกรรม เนื่องจากอาจได้ประพฤติอันไม่สมควรต่อผู้ใหญ่ในเวลาที่ผ่านมา ผู้ใหญ่จะรับเอาของที่นำมามอบให้และใช้มือจุ่มลงในน้ำขมิ้นส้มป่อยแล้วลูบที่ศีรษะของตน กล่าวอโหสิกรรมให้ก่อนแล้วจึงให้พร

        คำว่า “ดำหัว” เป็นภาษาถิ่น จึงไม่ควรนำไปใช้เรียการรดน้ำสงกรานต์ของภาคอื่นๆ เพราะจะทำให้ผิดความหมาย


๔. ธรรมเนียมการประแป้งดินสอพองในประเพณีสงกรานต์มิได้มีอยู่จริง

        การประแป้งดินสอพองในสมัยโบราณเป็นเพียงการแต่งตัวตามสมัยนิยมของแต่ละบุคคล ดังนั้นในประเพณีสงกรานต์ หากใครอยากประแป้งก็ประเองไม่ควรไปประแป้งให้ผู้อื่น การถูกเนื้อต้องตัวผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้นไม่ใช่มารยาทที่ดีของสุภาพชน

You are here: Home วัฒนธรรมศึกษา คุณรู้หรือไม่??? เกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์